สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งภาคประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... ผ่าน ๓ ช่องทาง ๑) การรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป ผ่านระบบเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๒) การจัดโครงการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ณ โรงแรมริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี และ ๓) การรับฟังความคิดเห็นทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถส่งความคิดเห็นของท่านมาได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๐ ถึง วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ บัดนี้ ได้ครบกำหนดระยะเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว จึงขอสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... เพื่อเผยแพร่ต่อไป
__________________________________
ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ....
....................................
....................................
....................................
............................................................................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า
...................................................................................................................................................................................................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ซื้อ” หมายความรวมถึง เช่าซื้อ หรือได้มาไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น
“ขาย” หมายความรวมถึง ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น
“สินค้า” หมายความว่า สิ่งของที่มีไว้เพื่อขาย
“ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจ
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า
มาตรา ๔ กรณีที่เป็นสินค้าที่เช่าซื้อ ให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อเพื่อเรียกร้องให้ผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องนั้น เว้นแต่ผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะที่เป็นเจ้าของสินค้าได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ เกี่ยวกับความรับผิดต่อความชำรุด
บกพร่องในสัญญาซื้อขายที่ตนมี ให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อไปทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไข กรณีดังกล่าวให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิเรียกร้องต่าง ๆ เกี่ยวกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายเอากับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ขายได้โดยตรง
ภายใต้บังคับมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๑) และมาตรา ๗ กรณีที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อมีสิทธิในการยึดหน่วงค่าเช่าตามสัญญาเช่าซื้อ จนกว่าผู้ให้เช่าซื้อ หรือผู้ขายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจจะได้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดที่ปราศจากความชำรุดบกพร่องแก่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อ
ภายใต้มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง (๒) และมาตรา ๘ กรณีที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อขอลดราคาตามสภาพก็ให้คำนวณการผ่อนชำระเสียใหม่ตามราคาที่ลดลง และในกรณีที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อใช้สิทธิยกเลิกสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นฐานแห่งสัญญาเช่าซื้อ ก็ให้ถือเป็นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วยในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบก่อนล่วงหน้า ๗ วัน กรณีที่ไม่มีการแจ้งหรือการแจ้งไม่สมบูรณ์นั้น ให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่าซื้อยังคงต้องชำระค่าเช่าต่อไป จนกว่าจะมีการแจ้งใหม่หรือมีการแก้ไขการแจ้งให้สมบูรณ์
มาตรา ๕ ในกรณีที่สินค้าซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่อง ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) สินค้านั้นแตกต่างออกไปจากข้อตกลงที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งในสัญญาหรือความมุ่งหมายที่จะใช้ประโยชน์จากสินค้าที่ปรากฏในสัญญา แตกต่างจากสภาพปกติธรรมดาของสินค้า หรือแตกต่างจากการใช้ประโยชน์จากสินค้าตามปกติ โดยคุณสมบัติของสินค้าตามสัญญาหรือตามปกติวิสัยข้างต้นให้รวมถึงคุณสมบัติที่ผู้บริโภคสามารถคาดหมายได้อันเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลที่เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบจากผู้ขาย ผู้ผลิต หรือบุคคลอื่นใดที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลที่ปรากฏในคำโฆษณาหรือจากการกำหนดคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงของสินค้า เว้นแต่ผู้ขายจะไม่รู้หรือไม่ควรรู้เกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวว่าในขณะที่มีการตกลงทำสัญญาต่อกันนั้นได้มีการแก้ไขข้อมูลเช่นว่านั้นในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการที่ได้เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบแล้ว หรือข้อมูลนั้นไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อสินค้าดังกล่าว
(๒) ความชำรุดบกพร่องจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าตามคู่มือการติดตั้งหรือประกอบสินค้า หรือการส่งมอบสินค้าผิดประเภทหรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้
ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ทั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
มาตรา ๖ กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่อง ให้ผู้บริโภคมีสิทธิดังต่อไปนี้
(๑) เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าได้ตามมาตรา ๗
(๒) เลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามมาตรา ๘
(๓) เรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๙
(๔) ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตาม (๒) และ (๓) ได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าไปก่อนแล้ว เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิเสธที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าอย่างชัดเจน หรือกรณีที่การซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าไม่อาจจะลบล้างความชำรุดบกพร่องได้ กรณีที่มีการซ่อมแซมหากปรากฏว่าได้มีการซ่อมแซมไปแล้วถึงสองครั้ง หรือกรณีมีการซ่อมแซมแล้วก่อให้เกิดความเสียหายหรือชำรุดบกพร่องเพิ่มเติม ก็ให้ถือว่าไม่อาจลบล้างความชำรุดบกพร่องได้ เว้นแต่ว่าโดยสภาพแห่งสินค้านั้นสามารถพิจารณาเป็นอย่างอื่นไปได้
มาตรา ๗ ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ตามที่ผู้บริโภคต้องการ
กรณีที่ผู้บริโภคเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการภายในระยะเวลาอันเหมาะสม โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภคเกินจำเป็น และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่การนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าจ้างแรงงาน ค่าวัสดุ หรือค่าส่งของทางไปรษณีย์ เป็นต้น
กรณีที่ผู้บริโภคเลือกใช้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหรือการเปลี่ยนสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเลือกดังกล่าว และใช้สิทธิเลือกที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าได้แทนผู้บริโภค หากปรากฏว่าการกำหนดเลือกใช้สิทธิโดยผู้บริโภคก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบธุรกิจ
ระยะเวลาอันเหมาะสมหรือภาระที่เกินสมควรให้พิจารณาจากลักษณะตามปกติธรรมดาและวัตถุประสงค์ที่จะใช้สอยสินค้า โดยให้คำนึงถึงมูลค่าของสินค้าที่ปราศจากความชำรุดบกพร่องหลังจากที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนให้แล้ว หรือสภาพร้ายแรงของความชำรุดบกพร่อง
มาตรา ๘ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ตามที่ผู้บริโภคต้องการ โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบก่อนล่วงหน้าเจ็ดวัน แต่ผู้บริโภคไม่อาจจะใช้สิทธิเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดได้หากปรากฏว่าความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
กรณีที่ผู้บริโภคต้องการจะขอลดราคาตามสภาพ ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบก่อนล่วงหน้าเจ็ดวัน โดยจะทำเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้
การลดราคาตามสภาพให้พิจารณาจากสัดส่วนของราคาที่ปรากฏในขณะที่ทำสัญญาหรือส่งมอบสินค้านั้นว่า สินค้านั้นมีสัดส่วนระหว่างมูลค่าตามท้องตลาดที่ปราศจากความชำรุดบกพร่องกับมูลค่าตามท้องตลาดที่ชำรุดบกพร่องเป็นเท่าใด ทั้งนี้ มูลค่าของสินค้าสามารถทำการประเมินหรือคาดคะเนเอาก็ย่อมได้
กรณีที่ผู้บริโภคต้องการจะขอเลิกสัญญา ผู้บริโภคต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบก่อนล่วงหน้าเจ็ดวัน โดยจะทำเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวให้คำนวณรวมดอกเบี้ยเข้าด้วยโดยให้คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ และส่วนการคืนสินค้าให้คำนึงถึงสภาพของสินค้าที่ปรากฏในวันที่ส่งคืนประกอบกับข้อเท็จจริงของความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุของการเลิกสัญญาและความชำรุดบกพร่องที่มิได้เกิดจากการใช้สอยตามปกติ หากปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น ก็ให้ผู้ประกอบธุรกิจเรียกค่าเสียหายหรือยึดหน่วงเงินอันจะต้องใช้คืนตามความเหมาะสม
มาตรา ๙ ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ได้ตามความเหมาะสม โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบก่อนล่วงหน้าเจ็ดวัน โดยจะทำเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้
มาตรา ๑๐ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้นด้วยกลฉ้อฉล หรือผู้ประกอบธุรกิจได้ให้การรับประกันเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าที่ขายเอาไว้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องนั้น
(๒) สินค้าที่ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการขายทอดตลาดตามคำบังคับของศาล
มาตรา ๑๑ ผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจไม่อาจทำข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้เป็นผลเสียแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการตกลงโดยตรงในสัญญาหรือโดยปริยาย
มาตรา ๑๒ กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้การรับประกันแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องให้ทำเป็นหนังสือ และต้องระบุถึงสิทธิตามกฎหมายของผู้บริโภคเอาไว้ด้วย ซึ่งการรับประกันดังกล่าว
ไม่อาจจะไปเปลี่ยนแปลงสิทธิต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีผลเสียหายแก่ผู้บริโภคได้
การรับประกันต้องมีรายละเอียดชัดเจน เข้าใจได้ง่าย และประกอบด้วยรายละเอียดที่สำคัญ เช่น ระยะเวลา ขอบเขตการบังคับใช้ ถ้าการรับประกันทำเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับไว้ด้วย
กรณีเกิดความสงสัยว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ตกลงรับประกันเช่นว่านั้นหรือไม่ ให้พิจารณาจากข้อตกลงที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งในสัญญา หรือความมุ่งหมายที่ปรากฏในสัญญา หรือการรับประกันตามปกติวิสัย
มาตรา ๑๓ กรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องนับแต่วันส่งมอบ เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถพิสูจน์เป็นอย่างอื่นได้
มาตรา ๑๔ สิทธิของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นสองปีนับแต่เวลาที่ผู้บริโภคได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือเมื่อผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิเสธที่จะดำเนินการตามที่ผู้บริโภคร้องขอ
ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้า ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้น
มาตรา ๑๕ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายอื่น
มาตรา ๑๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
.........................................
นายกรัฐมนตรี