
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานของรัฐ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และแก่ประชาชน ในการบริหาร การปกครองประเทศ และการบริการสาธารณะ ซึ่งหลักการ สำคัญของกฎหมายมหาชนนอกจากจะบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติยังสามารถควบคุมตรวจสอบได้ ตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของกฎหมายมหาชน
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานของรัฐ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และแก่ประชาชน ในการบริหาร การปกครองประเทศ และการบริการสาธารณะ ซึ่งหลักการ สำคัญของกฎหมายมหาชนนอกจากจะบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติยังสามารถควบคุมตรวจสอบได้ ตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของกฎหมายมหาชน
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานของรัฐ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และแก่ประชาชน ในการบริหาร การปกครองประเทศ และการบริการสาธารณะ ซึ่งหลักการ สำคัญของกฎหมายมหาชนนอกจากจะบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติยังสามารถควบคุมตรวจสอบได้ ตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของกฎหมายมหาชน
กรุณากรอกข้อมูลพื้นฐานเพื่อประโยชน์และจัดทำรายงานสำหรับการรับฟังความคิดเห็น |
เนื่องจากสภาวการณ์เกี่ยวกับการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยจ้างและให้ลูกจ้างทำงานสถานประกอบการของตนเองเป็นการจ้างโดยมีการส่งงานไปให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านของตนเองมากขึ้นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่อาจให้ความคุ้มครองแก่ผู้รับงานประเภทนี้ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและมีความไม่ปลอดภัยในการทำงานในงานบางประเภทสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑ บททั่วไป
หมวด ๒ ค่าจ้าง
หมวด ๓ ความปลอดภัยในการทำงาน
หมวด ๔ การควบคุม
หมวด ๕ คณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน
หมวด ๖ การยื่นคำร้องและพิจารณาคำร้อง
หมวด ๗ พนักงานตรวจแรงงาน
หมวด ๘ บทกำหนดโทษ
- มาตรา ๑
- พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. .
- มาตรา ๒
- พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
- มาตรา ๓
- พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
- (๑) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ
- (๒) รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
- (๓) การจ้างงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- มาตรา ๔
- ในพระราชบัญญัตินี้
- งานที่รับไปทำที่บ้าน หมายความว่า งานที่ทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้าน และงานนั้นต้องเป็นงานที่ทำในบ้านของบุคคลนั้น หรือในสถานที่อื่นๆ ซึ่งบุคคลนั้นเลือกเองที่มิใช่สถานที่ทำงานของผู้จ้างงาน เพื่อรับค่าจ้าง ซึ่งก่อให้เกิดผลผลิตหรือผลงานตามที่ผู้จ้างงานกำหนด โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ วัสดุ หรือสิ่งของอื่นๆ ที่ใช้ในการทำงาน
- ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หมายความว่า บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล ซึ่งตกลงรับทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้จ้างงาน โดยรับมาทำที่บ้านหรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานประกอบกิจการของผู้จ้างงานเพื่อรับค่าจ้าง
- ผู้จ้างงาน หมายความว่า ผู้ประกอบกิจการซึ่งตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ทำงานที่รับไปทำที่บ้านโดยตกลงจ่ายค่าจ้างให้
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ทำงานที่รับไปทำที่บ้าน และบุคคลดังกล่าวได้ส่งมอบงานนั้นให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ว่าจะมีผู้รับจ้างช่วงก่อนถึงผู้รับงานไปทำที่บ้านกี่ช่วงก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการและบุคคลดังกล่าวเป็นผู้จ้างงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- ผู้ว่าจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าจ้างบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินงานทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายค่าจ้างตอบแทนผลสำเร็จแห่งการงานที่ทำนั้น
- ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่ผู้จ้างงานตกลงจ่ายให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาที่ตกลงกัน
- คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน
- พนักงานตรวจแรงงาน หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน
- อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
- มาตรา ๕
- ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานตรวจแรงงานกับออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
บททั่วไป- มาตรา ๖
- การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านพึงได้ตามกฎหมายอื่น
- มาตรา ๗
- ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เพื่อมีอำนาจฟ้องคดีหรือแก้ต่างคดีที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้จ้างงานกับผู้รับงานไปทำที่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย และเมื่อกระทรวงแรงงานแจ้งให้ศาลแรงงานทราบแล้ว ก็ให้มีอำนาจกระทำการได้จนคดีถึงที่สุด
- มาตรา ๘
- ในกรณีที่ผู้จ้างงานเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการทำงาน ผู้จ้างงานต้องจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยต่อการทำงาน ตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ด้วยความระมัดระวังและประหยัด ในกรณีที่ทำงานที่รับมอบหมายสำเร็จแล้ว ผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องส่งคืนวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่เหลือให้แก่ผู้จ้างงาน
- มาตรา ๙
- ในกรณีที่งานที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จและอยู่ในระยะเวลาที่ตกลงกัน ผู้จ้างงานจะบอกเลิกสัญญาไม่ได้ เว้นแต่ผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือผู้จ้างงานมีเหตุจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้จนต้องบอกเลิกสัญญาโดยผู้จ้างงานจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- ภายใต้บังคับตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรคาดหมายได้ว่างานที่รับไปทำที่บ้าน
จะไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านแจ้งให้ผู้จ้างงานทราบโดยเร็วเพื่อตกลงกับผู้จ้างงานขยายเวลาส่งมอบงานให้แก่ผู้จ้างงาน
- หากผู้จ้างงานไม่ตกลงขยายเวลาส่งมอบงานตามวรรคสอง และผู้จ้างงานจะได้รับความเสียหาย
จากความล่าช้าในการส่งมอบงาน โดยไม่ใช่ความผิดของผู้จ้างงาน ผู้จ้างงานมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมอบงานให้ผู้อื่นรับงานนั้นไปทำแทนได้
- การบอกเลิกสัญญาตามความในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในเหตุแห่งการนั้นจะเรียกค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง
- มาตรา ๑๐
- ในกรณีที่สาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
และผู้รับงานไปทำที่บ้านถึงแก่ความตาย หรือไม่สามารถทำงานนั้นต่อไปได้อันมิใช่เพราะความผิดของตน สัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง แต่ถ้างานในส่วนที่ได้ทำไปแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้จ้างงาน ผู้จ้างงานต้องรับเอาไว้และจ่ายค่าจ้างตามสัดส่วนของงานที่ทำ
- มาตรา ๑๑
- ห้ามมิให้ผู้จ้างงานเรียก หรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหาย ในการทำงานจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน เว้นแต่ ประเภท ปริมาณ หรือมูลค่าของงานที่ทำนั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จ้างงานได้ ทั้งนี้ ประเภท ปริมาณ หรือมูลค่าของงานที่ให้เรียก หรือรับหลักประกันจากผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
- ให้ผู้จ้างงานคืนหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านภายในเวลาไม่เกินเจ็ดวันนับแต่ผู้จ้างงานได้รับงานที่ทำ
- มาตรา ๑๒
- ให้ผู้จ้างงานกำหนดวันส่งมอบงานที่ทำสำเร็จ โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการทำงานที่รับไปทำที่บ้านของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งคาดหมายได้ว่างานที่ทำจะสำเร็จตามปกติวิสัยของผู้ที่ทำงานประเภทเดียวกัน
หมวด ๒
ค่าจ้าง- มาตรา ๑๓
- ให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าจ้างเป็นเงินตราไทย เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้รับงานไปทำที่บ้านให้จ่ายเป็นตั๋วเงินหรือเงินตราต่างประเทศ
- มาตรา ๑๔
- ให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ณ สถานที่ทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ถ้าจะจ่าย ณ สถานที่อื่นหรือด้วยวิธีอื่นต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- มาตรา ๑๕
- ให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านในขณะที่รับมอบงานหรือตามกำหนดที่ตกลงกัน แต่ไม่เกินสามวันนับแต่วันรับมอบงานที่ทำนั้น
- ถ้างานที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งมอบกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุค่าจ้างไว้เป็นส่วนๆ ผู้จ้างงานพึงจ่ายค่าจ้างเพื่องานแต่ละส่วนในขณะที่รับมอบหรือภายในเวลาไม่เกินสามวันนับแต่วันรับมอบงานในส่วนนั้น
- มาตรา ๑๖
- ห้ามมิให้ผู้จ้างงานหักค่าจ้างไม่ว่ากรณีใดๆ เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
- (๑) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องชำระ
- (๒) ชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
- (๓) ชดใช้ค่าเสียหายหรือสูญหายของทรัพย์สินของผู้จ้างงาน ซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๔) ชำระค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในกรณีที่ผู้จ้างงานนำงานที่ทำอันชำรุดบกพร่องจากการดำเนินงานที่รับไปทำที่บ้านของผู้รับงานไปทำที่บ้านให้บุคคลภายนอกเพื่อทำการแก้ไข
- (๕) ชำระค่าเสียหายหรือค่าปรับในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านส่งมอบงานที่ทำไม่ทันกำหนดเวลาส่งมอบการหักตาม (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีสิทธิได้รับ
หมวด ๓
ความปลอดภัยในการทำงาน- มาตรา ๑๗
- ให้ผู้จ้างงานแจ้งให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ในการทำงานตลอดจนวิธีการในการป้องกันอันตรายดังกล่าว และจัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับลักษณะงานให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านอย่างเพียงพอผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานที่ผู้จ้างงานจัดให้ และเมื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านทำการงานสำเร็จแล้วให้คืนอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแก่ผู้จ้างงาน
- มาตรา ๑๘
- ห้ามมิให้ผู้จ้างงานส่งมอบงานดังต่อไปนี้ให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๑) งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี
- (๒) งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
- (๓) งานเกี่ยวกับวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ
- (๔) งานเกี่ยวกับวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
- (๕) งานที่ต้องทำด้วยเครื่องมือหรือเครื่องจักร ซึ่งผู้ทำได้รับความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย
- (๖) งานที่ต้องทำเกี่ยวกับความร้อนจัดหรือความเย็นจัดอันอาจเป็นอันตราย
- (๗) งานอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
- มาตรา ๑๙
- ในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานที่ผู้จ้างงานส่งมอบให้ทำ อันมิใช่เป็นการจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ผู้จ้างงานเป็นผู้รับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
- เงินค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่ง ให้จ่ายให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ค่าทำศพตามวรรคหนึ่ง ให้จ่ายแก่บุคคลตามลำดับดังต่อไปนี้
- (๑) บุคคลซึ่งผู้รับงานไปทำที่บ้านทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพ
- (๒ )สามีภรรยา บิดามารดาหรือบุตรของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
- (๓) บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
- มาตรา ๒๐
- กรณีที่ผู้จ้างงานฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ตามมาตรา ๑๙ ให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
- เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ถ้ามีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในระยะเวลาดังกล่าวให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล และอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
- ในกรณีพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามวรรคสองแล้ว ถ้าผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย แล้วแต่กรณี ไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
- ในกรณีผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการ ให้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
- ในกรณีที่ผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายไม่อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน หรือไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนด ให้คำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี เป็นที่สุด
- ในกรณีที่ผู้จ้างงานเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลแรงงาน ผู้จ้างงานต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้นจึงจะฟ้องคดีได้
- เมื่อคดีถึงที่สุดและผู้จ้างงานมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทโดยธรรมของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย ให้ศาลแรงงานมีอำนาจจ่ายเงินที่ผู้จ้างงานวางไว้ต่อศาลให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายได้
หมวด ๔
การควบคุม- มาตรา ๒๑
- ให้ผู้จ้างงานจัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทำงานเป็นภาษาไทยมอบให้แก่
ผู้รับงานไปทำที่บ้านก่อนที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านจะเริ่มต้นทำงานที่รับไปทำที่บ้านฉบับหนึ่ง และเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของผู้จ้างงานอีกฉบับหนึ่ง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ
- เอกสารตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้
- (๑) ชื่อ ที่อยู่ เพศ อายุของผู้รับงานไปทำที่บ้าน และทุกคนในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๒) ชื่อและที่อยู่ของผู้จ้างงาน ในกรณีที่ผู้จ้างงานเป็นผู้รับเหมาช่วงให้บันทึกชื่อและที่อยู่ของผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปด้วย
- (๓) อัตราค่าจ้าง จำนวนค่าจ้างที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านจะได้รับ วิธีการคำนวณค่าจ้าง วิธีการหักค่าจ้างและจำนวนหลักประกันที่ได้รับจากผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๔) ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของงานที่รับไปทำที่บ้าน
- (๕) กำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการทำงานของแต่ละงวดหรือตามแต่จะตกลงกัน
- (๖) กำหนดวันส่งมอบงานที่ทำให้แก่ผู้จ้างงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านตามที่ตกลงกัน
- ให้ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทำงานก่อนที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านจะเริ่มต้นทำงาน
- มาตรา ๒๒
- ให้ผู้จ้างงานจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างมอบให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
- (๑) ชื่อ ที่อยู่ เพศ อายุของผู้รับงานไปทำที่บ้าน และทุกคนในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๒) ชื่อและที่อยู่ของผู้จ้างงาน ในกรณีที่ผู้จ้างงานเป็นผู้รับเหมาช่วงให้บันทึกชื่อและที่อยู่ของผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปด้วย
- (๓) วันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดการทำงานของแต่ละงวดหรือตามแต่จะตกลงกัน
- (๔) วันส่งมอบงานให้แก่ผู้จ้างงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๕) จำนวนค่าจ้างที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับ จำนวนค่าจ้างที่ถูกหักและเหตุของการหักค่าจ้าง จำนวนหลักประกันที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับคืน และเหตุของการได้รับหลักประกันคืนไม่ครบ
- (๖) จำนวนงานที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านส่งมอบให้แก่ผู้จ้างงานและงานที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านจะต้องแก้ไขเมื่อมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างไว้เป็นหลักฐาน
- มาตรา ๒๓
- ผู้จ้างงานเก็บรักษาเอกสารตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ไว้ไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันจ่ายค่าจ้างดังกล่าว
หมวด ๕
คณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน- มาตรา ๒๔
- ให้มีคณะกรรมการการรับงานไปทำที่บ้าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน ผู้แทนฝ่ายผู้จ้างงานและผู้แทนฝ่ายผู้รับงานไปทำที่บ้านฝ่ายละห้าคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเลขานุการ
- หลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนฝ่ายผู้จ้างงานและผู้แทนฝ่ายผู้รับงานไปทำที่บ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
- มาตรา ๒๕
- คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะรัฐมนตรีในเรื่องดังต่อไปนี้
- (๑) นโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๒) มาตรการเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๓) มาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานสำหรับผู้รับไปทำที่บ้านให้เหมาะสมกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ
- (๔) มาตรการในการป้องกันการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน และการคุ้มครองสวัสดิการอื่นแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
- (๕) ให้ความเห็นในกรณีที่เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับงานที่รับไปทำที่บ้าน
- (๖) ให้ความเห็นในการออกกฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้าน
- นอกจากนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
- มาตรา ๒๖
- ให้กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสองปี โดยอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้อีก แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระไม่ได้
- ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการในประเภทเดียวกันเป็นกรรมการแทน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้
- ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่ซึ่งต้องแต่งตั้งให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กรรมการเดิมพ้นจากตำแหน่ง
- มาตรา ๒๗
- นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๖กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
- (๑) ตาย
- (๒) ลาออก
- (๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะขาดประชุมสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
- (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
- (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- มาตรา ๒๘
- การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
- มาตรา ๒๙
- ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
- การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
- มาตรา ๓๐
- ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ให้คณะกรรมการกำหนดองค์ประชุมและวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม
- มาตรา ๓๑
- ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
- (๑) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
- (๒) เข้าไปในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของผู้จ้างงานหรือสถานที่ทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้านในเวลาทำงาน เพื่อศึกษา สำรวจ วิจัย ตรวจสอบหรือสอบถามข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะใช้ประกอบการพิจารณา ในการนี้ ให้ผู้จ้างงานหรือบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ส่ง หรือแสดงเอกสาร หรือให้ข้อเท็จจริงและไม่ขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว
- มาตรา ๓๒
- ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๑ ให้กรรมการ อนุกรรมการ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายแสดงบัตรประจำตัวหรือหนังสือมอบหมาย แล้วแต่กรณี ต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
- บัตรประจำตัวกรรมการ อนุกรรมการ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด
หมวด ๖
การยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง- มาตรา ๓๓
- ในกรณีที่ผู้จ้างงานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และผู้รับงานไปทำที่บ้านมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านทำงานอยู่หรือที่ผู้จ้างงานมีภูมิลำเนาอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
- ในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้รับงานไปทำที่บ้านถึงแก่ความตาย ให้ทายาทมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้
- มาตรา ๓๔
- เมื่อมีการยื่นคำร้องตามมาตรา ๓๓ให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้อง
- ในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งภายในเวลาตามวรรคหนึ่งได้ ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล และอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจพิจารณาอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดตามวรรคหนึ่งเมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้รับงานไปทำที่บ้านมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้จ้างงานมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ผู้จ้างงานจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง
- ให้ผู้จ้างงานจ่ายเงินตามวรรคสามให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย ณ สถานที่ทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายร้องขอ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้ผู้จ้างงานจ่ายเงินดังกล่าว ณ สำนักงานของพนักงานตรวจแรงงานหรือสถานที่อื่นตามที่ผู้จ้างงาน และผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายตกลงกัน
- ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายไม่มีสิทธิได้รับเงินตามมาตรา ๓๓ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายทราบ
- มาตรา ๓๕
- เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา ๓๔แล้ว ถ้าผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
- ในกรณีที่ผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
- ในกรณีที่ผู้จ้างงานเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล ผู้จ้างงานต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้
- เมื่อคดีถึงที่สุดและผู้จ้างงานมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตาย ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่ผู้จ้างงานวางไว้ต่อศาลให้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือทายาทของผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งถึงแก่ความตายได้
หมวด ๗
พนักงานตรวจแรงงาน- มาตรา ๓๖
- ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้พนักงานตรวจแรงงาน มีอำนาจดังต่อไปนี้
- (๑) เข้าไปในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของผู้รับงานไปทำที่บ้านในเวลาทำงานเพื่อตรวจสภาพการทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน และสภาพการจ้าง สอบถามข้อเท็จจริง ถ่ายภาพ ถ่ายสำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับการจ้าง การจ่ายค่าจ้าง เก็บตัวอย่างวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำเพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน และกระทำการอย่างอื่น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในอันที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
- (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
- (๓) มีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้จ้างงานหรือผู้รับงานไปทำที่บ้านปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้
- มาตรา ๓๗
- ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงาน ให้พนักงานตรวจแรงงานแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้บุคคลดังกล่าวอำนวยความสะดวกและไม่ขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงาน
- บัตรประจำตัวพนักงานตรวจแรงงานให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
- มาตรา ๓๘
- ในการตรวจสถานที่ทำงานของผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือสถานที่ทำงานของผู้จ้างงานอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอาจจัดให้แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวเพื่อให้ความคิดเห็น หรือช่วยเหลือพนักงานตรวจแรงงานในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ได้
- ให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้จ้างงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกและไม่ขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญตามมาตรานี้
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ- มาตรา ๓๙
- ผู้จ้างงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา ๔๐
- ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖(๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- มาตรา ๔๑
- ผู้จ้างงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
- มาตรา ๔๒
- ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวก ไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ ตามหนังสือเรียกของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย พนักงานตรวจแรงงาน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา ๔๓
- ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ หรือผู้ซึ่ง
คณะกรรมการมอบหมาย พนักงานตรวจแรงงาน หรือผู้ที่ไดรับมอบหมายตามมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา ๒๐ หรือ ๓๔ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา ๔๔
- บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุก หรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบดังนี้
- (๑) อธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
- (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น
- ในกรณีที่มีการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่บุคคลนั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ
- เมื่อผู้กระทำผิดได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- ถ้าผู้กระทำผิดไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาตามวรรคสามให้ดำเนินคดีต่อไป
|