ร่างระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ว่าด้วยการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานในคดีอาญา ตามมาตรการทั่วไป
พ.ศ. ๒๕๖๑
โดยที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญาเป็นกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อเพิ่มความคุ้มครองพยานให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติรองรับสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญาให้ได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสมและค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ ดังนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองพยาน สำนักงานคุ้มครองพยาน ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานอำนวยการกลางในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยาน เพื่อสร้างมาตรฐานและกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการคุ้มครองพยานทั้งมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษ ในกรณีพยานประสงค์ให้สำนักงานคุ้มครองพยานคุ้มครองความปลอดภัย หรือพยานในคดีที่สำนักงานคุ้มครองพยานเห็นสมควร หรือเป็นพยานตามข้อสั่งการของผู้บริหาร หรือตามนโยบายของรัฐบาล เช่น พยานในคดีค้ามนุษย์ คดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีอาญาที่สำคัญ และคดีอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น โดยการดำเนินการจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ เคารพในสิทธิของพยานเป็นประการสำคัญ และพึงตระหนักว่า บุคคลที่เป็นพยานในคดีอาญาเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งในการผดุงความยุติธรรม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้การแจ้งและวิธีการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานตามคำขอและการสิ้นสุดลง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดโดยหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ว่าด้วยการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานในคดีอาญา ตามมาตรการทั่วไป พ.ศ. ๒๕๖๑”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยหลักเกณฑ์การแจ้ง วิธีการให้ความคุ้มครอง และสิ้นสุดการคุ้มครองตามมาตรการทั่วไปแก่พยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๕๑
บรรดาระเบียบหรือคำสั่งอื่นในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งในระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“พยาน” หมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือศาลในการดำเนิน
คดีอาญา รวมทั้งผู้ชำนาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน
“การให้ความคุ้มครอง” หมายความว่า การคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานไม่ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของพยานทั้งก่อน ขณะ และหลังมาเป็นพยาน รวมทั้งการจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค และดำเนินการอื่นใดที่เป็นการช่วยเหลือพยานให้ดำรงชีพอยู่ได้
“ผู้รับความคุ้มครอง” หมายความว่า บุคคลที่อยู่ในความคุ้มครองของหน่วยงานคุ้มครองพยาน ได้แก่
(๑) พยาน หรือ
(๒) สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ซึ่งมีผลต่อการที่พยานจะมาเป็นพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัยและพยานได้ร้องขอ
“ผู้ร้องขอ” หมายความว่า บุคคลหรือหน่วยงานที่ร้องขอให้มีการคุ้มครองแก่พยาน ได้แก่
(๑) พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา ศาล
(๒) พยาน
(๓) บุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้อง
(๔) หน่วยงานอื่น
“มาตรการทั่วไป” หมายความว่า มาตรการที่สำนักงาน อาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองความปลอดภัย ตามที่เห็นเป็นการสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ร้องขอเมื่อเห็นว่าพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากพยานด้วย
การคุ้มครองให้พยานได้รับความปลอดภัยให้รวมถึงการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เว้นแต่พยานจะไม่ให้ความยินยอม และการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้ ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของพยานและลักษณะของคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖
“หน่วยงานคุ้มครองพยาน” หมายความว่า สำนักงานคุ้มครองพยาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยาน และหน่วยงานอื่นที่สำนักงานได้ประสานการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองพยาน
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
ข้อ ๕ ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรักษาการตามระเบียบนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๖ ในกรณีที่พยานในคดีอาญาอาจไม่ได้รับความปลอดภัย พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา ศาล พยานหรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจขอให้สำนักงานจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานตามมาตรการทั่วไปตามความจำเป็นและที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมของพยานด้วย
ในกรณีที่สำนักงานเห็นควรจัดให้พยานอยู่ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน ให้นำความตามวรรคหนึ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลม
ในกรณีสำนักงานประสานการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานไปยังหน่วยงานอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด ๘ แห่งระเบียบนี้
ข้อ ๗ ให้นำความในระเบียบนี้มาใช้บังคับ ในกรณีที่พยานได้ร้องขอให้นำมาตรการทั่วไปในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานมาใช้บังคับแก่สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานซึ่งมีผลต่อการที่พยานจะมาเป็นพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย เว้นแต่ บุคคลดังกล่าวจะไม่ให้ความยินยอม
ข้อ ๘ การกำหนดวิธีการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน ให้สำนักงานคำนึงถึง
(๑) ลักษณะคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง
(๒) พฤติการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของพยาน
(๓) ความเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของพยาน
(๔) ลักษณะทางกายภาพหรือสิ่งแวดล้อม
ข้อ ๙ การดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน และทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความปลอดภัยให้ดำเนินการเป็นความลับ
หมวด ๒
การร้องขอและผู้มีสิทธิร้องขอให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
ข้อ ๑๐ การร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานให้กระทำได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นคำร้องขอด้วยตนเองพร้อมเอกสารหลักฐานที่สำนักงานตามแบบท้ายระเบียบนี้ (แบบ สคพ.๑)
(๒) ในกรณีผู้ร้องขอไม่อาจมายื่นด้วยตนเองได้ให้ทำเป็นหนังสือหรือจดหมายหรือทางเครื่องมือสื่อสารอื่นใด
(๓) หน่วยงานในสังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ได้มีการมอบหมายให้ปฏิบัติทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
(๔) ยื่นคำร้องขอผ่านหน่วยงานอื่น
การร้องขอตาม (๒) (๓) และ(๔) ต้องระบุชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของพยาน ตลอดจนแห่งคดีและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพยาน อาจไม่ได้รับความปลอดภัยกับต้องลงลายมือชื่อหรือระบุชื่อผู้ร้องขอแล้วแต่กรณี
กรณีที่ไม่ได้ยื่นตามแบบให้ผู้ร้องขอรีบดำเนินการตามแบบท้ายระเบียบนี้ทันทีที่สามารถกระทำได้
ข้อ ๑๑ การให้ความยินยอมของพยานต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลงลายมือชื่อของพยานนั้นด้วย ในกรณีที่พยานไม่อาจให้ความยินยอมได้ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้ให้ความยินยอมแทน
(๑) กรณีพยานเป็นผู้เยาว์
๑.๑ ให้บิดาและมารดาเป็นผู้ให้ความยินยอม
๑.๒ ให้บิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอมหรือโดยพฤติการณ์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาคนหนึ่งคนใดได้
๑.๓ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ให้ความยินยอมกรณีมารดาหรือบิดาตาย หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอมหรือโดยพฤติการณ์ไม่อาจให้ความยินยอมได้
(๒) กรณีพยานเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้ให้ความยินยอม
(๓) กรณีพยานเป็นคนไร้ความสามารถให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ให้ความยินยอม
การให้ความยินยอมให้สำนักงานกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองความปลอดภัยข้อ ๑๔ ในกรณีที่สำนักงานตรวจสอบคำร้องขอ พยานหลักฐาน และรายละเอียดที่ยื่นตามข้อ ๑๐หรือพยานหลักฐานและรายละเอียดที่ยื่นเพิ่มเติมตามข้อ ๑๓ แล้ว ให้สำนักงานเสนอคำร้องขอดังกล่าว พร้อมกับความเห็นประกอบให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว
ข้อ ๑๒ เมื่อสำนักงานได้รับคำร้องขอตามข้อ ๑๐ (๑) ให้ออกใบรับคำร้องต่อไป
ข้อ ๑๓ ในการตรวจสอบคำร้องขอตามข้อ ๑๒ หากสำนักงานเห็นว่ายังขาดพยานหลักฐานใดให้แจ้งผู้ยื่นคำร้องขอส่งเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอไม่ยื่นพยานหลักฐานและรายละเอียดเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ ให้สำนักงานรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่มีและจัดทำรายงานและความเห็นประกอบคำร้องขอเสนอให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกลอง แล้วมีข้อเสนอต่ออธิบดี
ข้อ ๑๔ ในกรณีที่สำนักงานตรวจสอบคำร้องขอ พยานหลักฐานและรายละเอียดที่ยื่นตามข้อ ๑๐ หรือพยานหลักฐานและรายละเอียดที่ยื่นเพิ่มเติมตามข้อ ๑๓ แล้ว ให้สำนักงานเสนอคำร้องขอดังกล่าว พร้อมกับความเห็นประกอบให้คณะกรรมการพิจารณาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว
หมวด ๓
พนักงานเจ้าหน้าที่
ข้อ ๑๕ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) บันทึกปากคำผู้ร้องขอและการให้คำยินยอมไว้เป็นหนังสือตามแบบท้ายระเบียบนี้ (แบบ สคพ.๑ และ สคพ. ๕)
(๒) สืบสวน ตรวจสอบความถูกต้อง รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
(๓) ในการตรวจสอบพฤติการณ์ความปลอดภัยของพยาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของพยานและผู้ใกล้ชิด โดยอาจแจ้งให้พยานทราบหรือไม่ก็ได้ เช่น การติดตามทางลับติดตามสะกดรอย การตรวจสอบข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นของพยานและผู้ใกล้ชิด ผู้ต้องหา จำเลยหรือบริวารของบุคคลดังกล่าวที่อาจเป็นภัยคุกคามแก่พยานและผู้ใกล้ชิด เป็นต้น
ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยของพยาน
ทั้งก่อน ขณะ และหลังการมาเป็นพยาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานคุ้มครองพยานอื่นที่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน หรือตรวจสอบหรือแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
หากมีความจำเป็นเร่งด่วนให้ผู้อำนวยการสั่งการด้วยวาจา หรือเครื่องมือสื่อสารก็ได้ แต่ต้องบันทึกการมอบหมายหรือสั่งการดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรในทันทีที่สามารถกระทำได้
(๔) บันทึกสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รับเกี่ยวกับพยานและเหตุอันควรเชื่อว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัยหรือมีเหตุทำให้พยานจะไม่ไปให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือศาล พร้อมเสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการโดยเร็ว
ข้อ ๑๖ ในการทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจ
(๑) เรียกผู้ร้องขอรับความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานมาให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาเสนอความเห็น
(๒) มีความเห็นเกี่ยวกับการยกคำร้องขอความปลอดภัยแก่พยาน
(๓) มีความเห็นกรณีให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
๓.๑ วิธีการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
๓.๒ ระยะเวลาการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
๓.๓ กำหนดเงื่อนไขให้พยานปฏิบัติระหว่างอยู่ในความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
๓.๔ การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
๓.๕ งบประมาณและค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
ข้อ ๑๗ เมื่อผู้อำนวยการได้รับคำร้องขอพร้อมความเห็นจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๑๖ แล้ว ให้เสนอคำร้องขอพร้อมความเห็นดังกล่าวต่อคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้การคุ้มครองแก่พยาน ผู้อำนวยการอาจสั่งการให้สำนักงานคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานหรือแจ้งหน่วยงานคุ้มครองพยาน เพื่อช่วยให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานตามความจำเป็นและที่เห็นสมควรไปก่อนและขออนุมัติต่ออธิบดีหรือรองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมายโดยเร็ว แต่ต้องบันทึกการมอบหมายหรือสั่งการดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรในทันทีที่สามารถกระทำได้โดยให้คำนึงถึงความลับ ความรวดเร็วและการลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการ และนำเข้าคณะกรรมการเพื่อทราบ
หมวด ๔
คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
ข้อ ๑๘ ให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานประกอบด้วย
(๑) รองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
(๒) ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการ
(๓) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งอธิบดีมอบหมาย จำนวน ๑ คน เป็นกรรมการ
(๔) ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองพยาน เป็นกรรมการ
(๕) หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและมาตรฐานการคุ้มครองพยาน เป็นกรรมการ
(๖) หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการคุ้มครองพยาน เป็นกรรมการ
(๗) หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการคุ้มครองพยาน เป็นกรรมการและเลขานุการ
(๘) เจ้าหน้าที่สำนักงานคุ้มครองพยานที่ผู้อำนวยการสำนักงานมอบหมาย จำนวน ๔ คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๑๙ ให้คณะกรรมการ มีอำนาจพิจารณาและเสนอความเห็นคำร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของอธิบดี ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อออกคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๒) ระยะเวลาการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๓) กำหนดหรือให้ความเห็นชอบวิธีการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๔) กำหนดเงื่อนไขให้พยานปฏิบัติระหว่างอยู่ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้การคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานนั้นสิ้นสุดลง
(๕) การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
(๖) กำหนดหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานและสถานที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๗) กำหนดวงเงิน งบประมาณ และค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๘) กำหนดหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๙) ตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานและการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๑๐) เรียกผู้ร้องขอ พยาน บุคคลที่จะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยหรือบุคคลอื่นใดหรือผู้แทนหน่วยงานมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา
(๑๑) พิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อออกคำสั่งให้การคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน สิ้นสุดลง
(๑๒) พิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อออกคำสั่งให้แก้ไขวิธีหรือเงื่อนไขในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
(๑๓) พิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อออกคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน ที่มีอยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นเป็นประการใดแล้วก็ให้เสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณา
หมวด ๕
การแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
ข้อ ๒๑ ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งอนุมัติคำร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน ให้สำนักงานดำเนินการแจ้งผลให้พยานทราบ ดังนี้
(๑) กรณีที่สำนักงานดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานเอง ให้แจ้งพยานทราบถึงวิธีการคุ้มครองความปลอดภัย รวมถึงสิทธิของพยานตามกฎหมายและจัดให้มีการคุ้มครองความปลอดภัยโดยเร็ว
(๒) กรณีให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานให้ทำเป็นหนังสือและอาจแจ้งให้พยานทราบด้วย
การแจ้งคำสั่งอาจดำเนินการทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นได้ แต่ต้องกระทำโดยระมัดระวังให้เกิดความปลอดภัยแก่พยาน ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ข้อ ๒๒ ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งไม่อนุมัติคำร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน ให้สำนักงานดำเนินการแจ้งผลผู้ร้องขอทราบเป็นหนังสือ และให้นำความในหมวด ๑๐ มาใช้บังคับ
หมวด ๖
วิธีการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยาน
ข้อ ๒๓ การกำหนดวิธีการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานให้สำนักงานดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองความปลอดภัย โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเป็นหัวหน้าชุดและพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นเป็นชุดคุ้มครองความปลอดภัย
(๒) จัดทำคำสั่งแต่งตั้งชุดคุ้มครองความปลอดภัย ตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ (แบบ สคพ.๗ และ สคพ. ๗/๑)
(๓) จัดพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เป็นสุภาพสตรีปฏิบัติหน้าที่เป็นชุดคุ้มครองความปลอดภัยแก่สตรีหรือเด็ก
(๔) จัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยตามที่สำนักงานเห็นสมควรและเหมาะสม
(๕) ปกปิดมิให้มีการเปิดเผยถึงการคุ้มครอง รวมทั้งชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้ตามความเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของพยานและลักษณะของคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง
(๖) สำนักงานอาจนำมาตรการการคุ้มครองความปลอดภัยตามกฎหมายอื่นมาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น การสืบพยานล่วงหน้า การยื่นคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว การประสานส่งกลับภูมิลำเนา หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของพยาน เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่พยาน
(๗) สำนักงานอาจจัดกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดตามความเหมาะสม เพื่อลดภาวะตึงเครียด ความวิตกกังวลของพยาน
รายละเอียด(เพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารแนบ)...