ร่าง
พระราชบัญญัติ
การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ….
..................................
..................................
..................................
…………………………………………………………………………………………....................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์แก่การคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
…………………………………………………………………………………………....................................................................................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๑๐ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “สินค้าที่ถูกพิจารณา” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““สินค้าที่ถูกพิจารณา” หมายความว่า สินค้ารายที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาดหรือได้รับการอุดหนุน หรือสินค้ารายที่ถูกกล่าวหาว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
หรือการอุดหนุน”
มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของบทนิยามคำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๒) รัฐบาลของประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกซึ่งสินค้าที่ถูกพิจารณา”
มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๒/๑) ของบทนิยามคำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๔๒
“(๒/๑) ผู้ประกอบสินค้าตามมาตรา ๗๑/๑”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการพิจารณาการทุ่มตลาด การพิจารณา
การอุดหนุน การพิจารณาความเสียหาย การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน การพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน การพิจารณา
ขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการทบทวนมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการใด ๆ อันเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่สมควร กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งนั้นจะกำหนดให้กรณีหนึ่งกรณีใด อาจกระทำได้โดยออกเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ก็ได้
มาตรา ๗ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ให้คำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะประกอบกัน
มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควร จะให้กรมการค้าต่างประเทศมีหนังสือขอให้กรมศุลกากรดำเนินการจัดทำทะเบียน
การนำเข้าหรือส่งออกสินค้าใด หรือรวบรวมข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าก็ได้ ในกรณีนี้ให้กรมศุลกากรมีอำนาจกำหนดให้ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกแจ้งข้อเท็จจริงใด ๆ ตามที่คณะกรรมการร้องขอได้ และให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและบทกำหนดโทษในส่วนที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับแก่กรณีนี้
มาตรา ๙ ผู้ซึ่งยื่นคำขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ผู้นำเข้า ผู้ประกอบสินค้า ผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือผู้ส่งออกจากต่างประเทศอาจขอรายละเอียดที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นฐานในการกำหนดมาตรการชั่วคราว การกำหนดอากรตอบโต้การทุ่มตลาด
หรือการอุดหนุน การขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือการทบทวนอากร แล้วแต่กรณี ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
คำขอตามวรรคหนึ่งให้ยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มาตรการชั่วคราว การกำหนดอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน การขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้
การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือการทบทวนอากร มีผลใช้บังคับ
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ผู้ใดอาจมีคำขอให้พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน พิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
ให้ทำความตกลง ให้ทบทวนมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนขอข้อมูลข่าวสารใดนั้น ให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายได้ตามความเหมาะสมแก่ภาระในการดำเนินงานดังกล่าว”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๓ ภายใต้บังคับวรรคสอง บุคคลหรือคณะบุคคลอาจยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศในนามของอุตสาหกรรมภายใน เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด
ให้ถือว่าคำขอตามวรรคหนึ่งเป็นคำขอที่ยื่นในนามของอุตสาหกรรมภายในเมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในประเทศซึ่งมีการผลิตรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของปริมาณ
การผลิตสินค้าชนิดเดียวกันของผู้ที่ได้แสดงความเห็นทั้งส่วนที่สนับสนุนและส่วนที่คัดค้านรวมกัน ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใด ปริมาณการผลิตของฝ่ายสนับสนุนนั้นต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของปริมาณ
การผลิตสินค้าชนิดเดียวกันทั้งหมดในประเทศ
การยื่นคำขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด”
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๙ ในการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด ให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนประเด็นการทุ่มตลาดและความเสียหาย เริ่มต้นโดยการออกประกาศ
ไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายในราชกิจจานุเบกษา และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษหรือเผยแพร่โดยวิธีการอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ ตามที่เห็นสมควร”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๙/๑ และมาตรา ๔๙/๒ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
“มาตรา ๔๙/๑ ในกรณีที่มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากสินค้าใด ให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับ
กับการเรียกเก็บอากรดังกล่าวเสมือนอากรนั้นเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายนั้น และอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่เก็บได้ให้เก็บรักษาไว้เพื่อปฏิบัติตามมาตรา ๕๙ จนกว่าจะสิ้นเหตุที่จะต้องปฏิบัติ
ตามมาตราดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้นำเข้าไม่เสียอากรหรือเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาดไม่ครบถ้วน หรือค้างชำระค่าอากรดังกล่าว ให้เป็นอำนาจของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บอากร
เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ การกักของ การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การขายทอดตลาด และการดำเนินการเกี่ยวกับของตกค้าง รวมทั้งการลดเงินเพิ่ม งดหรือลดเบี้ยปรับ ทุเลาการชำระอากรตอบโต้
การทุ่มตลาด เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ หากผู้นำเข้าไม่เห็นด้วยกับการประเมินอากรดังกล่าวของกรมศุลกากร ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
และให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวด้วย
มาตรา ๔๙/๒ ผู้นำเข้าอาจขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาด หากภายหลังปรากฏว่ามีการส่งสินค้าที่ได้ชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
ในการนี้ ให้เป็นอำนาจของกรมศุลกากรในการคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและให้นำมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๐ ในกรณีที่หาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม อากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้กำหนดให้เหมาะสมกับผู้ได้รับการสุ่มเป็นตัวอย่างแต่ละราย
สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการสุ่มเป็นตัวอย่าง ให้กำหนดอัตราไว้ไม่เกินอัตราถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด แต่ถ้าผู้ที่ไม่ได้รับการสุ่มตัวอย่างรายใดได้ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนโดยครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ให้คณะกรรมการกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้เหมาะสมสำหรับผู้นั้น เว้นแต่การกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับแต่ละรายจะเป็นภาระเกินสมควรและอาจทำให้การไต่สวนไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๕๔ เนื่องจากมีผู้ได้ให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จะกำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดไม่เกินอัตราถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักดังกล่าวก็ได้”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ มาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕๗ อากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้เรียกเก็บได้เป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันเริ่มใช้บังคับหรือนับแต่วันที่ผลการทบทวนครั้งสุดท้ายซึ่งมีการพิจารณาทบทวนทั้งปัญหาการทุ่มตลาดและปัญหาความเสียหายใช้บังคับ เว้นแต่เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควรให้ทบทวนหรือเมื่อบุคคลหรือคณะบุคคลมีคำขอในนามของอุตสาหกรรมภายในให้ทบทวนภายในระยะเวลา
ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าการยุติการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจะทำให้มีการทุ่มตลาดและความเสียหายต่อไป หรือทำให้การทุ่มตลาด
และความเสียหายฟื้นคืนมาอีก ทั้งนี้ การพิจารณาการทบทวนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศให้มีการทบทวน
การพิจารณาทบทวนไม่กระทบถึงการเรียกเก็บอากรในระหว่างระยะเวลาที่อากรตอบโต้การทุ่มตลาดตามวรรคหนึ่งยังมีผลใช้บังคับ แต่หากการพิจารณาทบทวนไม่แล้วเสร็จหลังพ้นกำหนดระยะเวลาที่อากรตอบโต้การทุ่มตลาดมีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการเรียกหลักประกันการชำระอากรในระหว่างนั้นจนกว่าผลการพิจารณาทบทวนใช้บังคับ
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าการยุติการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจะทำให้มีการทุ่มตลาดและความเสียหายต่อไป หรือทำให้การทุ่มตลาดและความเสียหายฟื้นคืนมาอีก
ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตั้งแต่วันที่มีการเรียกหลักประกันการชำระอากรตามวรรคสอง
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ยุติการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด บรรดาหลักประกันการชำระอากรที่ให้ไว้ในระหว่างการทบทวนดังกล่าว ให้คืนโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๕๘ ผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศรายใดซึ่งมิได้ส่งสินค้าทุ่มตลาดเข้ามาในช่วงระยะเวลาที่นำข้อมูลมาใช้เพื่อการไต่สวนการทุ่มตลาด
แต่ได้ส่งสินค้าทุ่มตลาดเข้ามาหลังช่วงระยะเวลาดังกล่าวอาจขอให้ทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับตนเป็นการเฉพาะรายได้ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับ
ผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศรายอื่นซึ่งอยู่ในบังคับถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดดังกล่าว
ให้ถือว่าผู้ขอทบทวนมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศรายอื่นตามวรรคหนึ่ง ถ้าปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง
หรือทั้งสองฝ่ายถูกควบคุมโดยบุคคลที่สาม หรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันควบคุมบุคคลที่สาม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการนี้ ให้ถือว่าฝ่ายหนึ่งควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ ถ้าฝ่ายแรก
อยู่ในฐานะทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติที่จะยับยั้งหรือสั่งการฝ่ายหลังได้
ในระหว่างการทบทวนตามวรรคหนึ่งจะเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากผู้ขอทบทวนดังกล่าวไม่ได้ แต่ถ้าต่อมาคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่ามีการทุ่มตลาด
หรือผู้ขอทบทวนมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศหรือผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศซึ่งอยู่ในบังคับถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดดังกล่าว คณะกรรมการจะกำหนดอากร
ตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับระยะเวลาที่งดเก็บนั้นก็ได้ และให้นำมาตรา ๓๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การพิจารณาการทบทวนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศให้มีการทบทวน
มาตรา ๕๙ ผู้นำเข้าอาจขอทบทวนเพื่อขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในขณะหนึ่งขณะใดได้ ถ้าผู้นั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด หรือส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดลดลงต่ำกว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดที่ใช้บังคับ
การขอทบทวนตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศภายในหกเดือนนับแต่วันชำระอากรดังกล่าว
การพิจารณาการทบทวนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการรับคำขอดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกเดือน
มาตรา ๖๐ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ หมวด ๓ หมวด ๔ และส่วนที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ส่วนที่ ๓ ของหมวด ๕ และหมวด ๖ มาใช้บังคับแก่การทบทวนตามหมวดนี้โดยอนุโลม”
มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
“มาตรา ๗๐/๑ ในกรณีที่ผู้นำเข้าไม่เสียอากรหรือเสียอากรตอบโต้การอุดหนุนไม่ครบถ้วน หรือค้างชำระค่าอากรดังกล่าว ให้เป็นอำนาจของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บอากร
เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ การกักของ การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน การขายทอดตลาด และการดำเนินการเกี่ยวกับของตกค้าง รวมทั้งการลดเงินเพิ่ม งดหรือลดเบี้ยปรับ ทุเลาการชำระอากรตอบโต้
การอุดหนุน เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ หากผู้นำเข้าไม่เห็นด้วยกับการประเมินอากรดังกล่าวของกรมศุลกากร ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
และให้นำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวด้วย”
มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๑ เมื่อคณะกรรมการได้รับคำขอจากผู้ที่ยื่นคำขอในนามของอุตสาหกรรมภายในหรือข้อเสนอของกรมการค้าต่างประเทศให้พิจารณาตอบโต้การอุดหนุนแล้ว
ให้คณะกรรมการแจ้งให้ประเทศซึ่งสินค้าดังกล่าวถูกพิจารณาว่าได้มีการอุดหนุนทราบและขอให้ประเทศนั้นมาปรึกษาหารือโดยไม่ชักช้า เพื่อทำความตกลงให้ยุติการพิจารณาตอบโต้การอุดหนุน
หรือเพื่อทำความตกลงระงับการอุดหนุน”
มาตรา ๑๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑๐/๑ การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน มาตรา ๗๑/๑ ถึงมาตรา ๗๑/๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้
การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
“หมวด ๑๐/๑
การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน
มาตรา ๗๑/๑ ในหมวดนี้
“ผู้ประกอบสินค้า” หมายความว่า ผู้ที่ทำให้สำเร็จหรือประกอบขึ้นซึ่งสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในประเทศไทยหรือในประเทศอื่น โดยการใช้สินค้า ส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วน ที่ผลิตจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
มาตรา ๗๑/๒ การขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตามหมวดนี้ ให้ใช้กับการนำเข้าสินค้าที่มีการไต่สวนแล้วพบว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
มาตรา ๗๑/๓ การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตามมาตรา ๗๑/๒ ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(๑) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าอันเกิดจากการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจโดยไม่มีเหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจสนับสนุนอย่างเพียงพอ
แต่เป็นไปเพื่อมิให้อยู่ภายใต้บังคับการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนหรือเพื่อมิให้อยู่ภายใต้บังคับอัตราอากรตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๒) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าตาม (๑) มีผลเป็นการบั่นทอนการใช้บังคับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในด้านของราคาหรือปริมาณ และ
(๓) หลักฐานการทุ่มตลาดโดยเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าปกติของสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดที่คำนวณขึ้นก่อนหน้ากับราคาส่งออกของสินค้าที่ถูกพิจารณาหรือราคาขายของสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือหลักฐานการได้รับการอุดหนุน
หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเหตุอันควรหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ การบั่นทอนการใช้บังคับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในด้านของราคาหรือปริมาณ และหลักฐานการทุ่มตลาดหรือการได้รับการอุดหนุน ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๑/๔ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจตามมาตรา ๗๑/๓ (๑) ได้แก่
(๑) การแก้ไขดัดแปลงสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนเพียงเล็กน้อยโดยไม่มีผลต่อลักษณะหรือคุณสมบัติที่สำคัญของสินค้านั้น ไม่ว่าการแก้ไขดัดแปลงสินค้าดังกล่าวจะทำในประเทศที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนหรือในประเทศอื่น
(๒) การส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการดังกล่าวมาประเทศไทยโดยผ่านประเทศอื่น
(๓) การส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการดังกล่าวมาประเทศไทยโดยผ่านผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกรายที่ไม่ถูกเรียกเก็บหรือรายที่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราที่สินค้านั้นถูกเรียกเก็บ
(๔) การนำสินค้า ส่วนประกอบ หรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนมาทำให้สำเร็จหรือประกอบเป็นสินค้าที่เหมือนกับสินค้า
ที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ในประเทศไทย ประเทศอื่น หรือที่ใด โดยให้พิจารณาดังต่อไปนี้
(ก) การทำให้สำเร็จหรือการประกอบเป็นสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนได้เริ่มดำเนินการหรือมีการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน และ
(ข) สินค้าที่ถูกทำให้สำเร็จหรือประกอบเป็นสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มหรือมูลค่าส่วนประกอบหรือชิ้นส่วน ดังนี้
๑) ในกรณีสินค้าที่ถูกทำให้สำเร็จมีมูลค่าเพิ่มของสินค้านั้นน้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของต้นทุนการผลิต หรือ
๒) ในกรณีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน มีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละหกสิบของมูลค่าส่วนประกอบ
หรือชิ้นส่วนทั้งหมดของสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน เว้นแต่สินค้าที่ประกอบขึ้นจากส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ
ยี่สิบห้าของต้นทุนการผลิต
การคำนวณมูลค่าเพิ่มตาม (ข) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
(๕) การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจอื่นใด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๑/๕ ให้เริ่มดำเนินกระบวนการพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน เมื่อมีคำขอของกรมการค้าต่างประเทศหรือของบุคคลหรือคณะบุคคลตามมาตรา ๗๑/๖
การยื่นคำขอตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้หลังจากคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดให้มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
มาตรา ๗๑/๖ บุคคลหรือคณะบุคคลอาจยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศในนามของผู้ผลิตในประเทศซึ่งผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้
การทุ่มตลาดหรืออากรตอบโต้การอุดหนุน เพื่อขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
คำขอตามวรรคหนึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตในประเทศซึ่งผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าที่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรตอบโต้การอุดหนุน
ในปริมาณไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของปริมาณการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันทั้งหมดในประเทศ
การยื่นคำขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
มาตรา ๗๑/๗ ถ้าคำขอตามมาตรา ๗๑/๖ มีรายละเอียดหรือหลักฐานไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการให้ครบถ้วนหรือถูกต้อง
ภายในเวลาที่กำหนด
เมื่อคำขอมีรายละเอียดและพยานหลักฐานครบถ้วนและถูกต้องแล้วให้กรมการค้าต่างประเทศเสนอคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
มาตรา ๗๑/๘ ผู้ยื่นคำขอตามมาตรา ๗๑/๖ อาจถอนคำขอได้ แต่ถ้าได้มีการประกาศไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตามมาตรา ๗๑/๑๐ แล้ว คณะกรรมการจะยุติการพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือดำเนินการพิจารณาต่อไปก็ได้
มาตรา ๗๑/๙ ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าคำขอนั้นไม่มีมูลเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๗๑/๑๐ ในการพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการ
ตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน เริ่มต้นโดยการออกประกาศไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในราชกิจจานุเบกษา และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน
ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษหรือเผยแพร่โดยวิธีการอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ ตามที่เห็นสมควร
ประกาศไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนต้องมีรายการตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด
ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งประกาศไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนให้ผู้ยื่นคำขอและรัฐบาลของประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องทราบ และในกรณีที่ทราบที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเข้า ผู้ประกอบสินค้า หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งเป็นหนังสือให้บุคคลเหล่านั้นทราบประกาศนั้นด้วย
มาตรา ๗๑/๑๑ การเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นรวมทั้งสิทธิการดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๑/๑๒ ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำขอเพื่อยกเว้นการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน โดยให้ยื่นตามแบบคำขอที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด และภายในระยะเวลาที่กำหนดในประกาศไต่สวนตามมาตรา ๗๑/๑๐ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๗๑/๑๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับแก่การไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนโดยอนุโลม
มาตรา ๗๑/๑๔ ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้ขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนโดยเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนกับการนำเข้าสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจากประเทศผู้ส่งออกนั้น
ในการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มตั้งแต่วันที่มีการจัดทำทะเบียนการนำเข้าสินค้า ในการนี้ ให้กรมศุลกากรมีอำนาจเรียกเก็บอากรดังกล่าวตามที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัย
ในกรณีที่มีการยื่นคำขอตามมาตรา ๗๑/๑๒ หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นคำขอรายใดไม่มีส่วนร่วมกับการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
หรือการอุดหนุน ให้คณะกรรมการยกเว้นการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นคำขอรายนั้น
การขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตามวรรคหนึ่งให้เปลี่ยนแปลงหรือสิ้นสุดตามการเรียกเก็บอากรของสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
มาตรา ๗๑/๑๕ ในกรณีที่มีการขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หากผู้นำเข้าไม่เสียอากรหรือเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
ไม่ครบถ้วน หรือค้างชำระค่าอากรดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๙/๑ หรือมาตรา ๗๐/๑ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๑/๑๖ การเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจนถึงการดำเนินการให้มีคำวินิจฉัยว่าให้ขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน หรือมีคำวินิจฉัยว่าไม่มีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าเดือนนับแต่วันประกาศไต่สวน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินสามเดือน
มาตรา ๗๑/๑๗ เมื่อคณะกรรมการเห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอยกเว้นการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจากผู้มีส่วนได้เสียหลังจากที่ได้มีการขยายมาตรการดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี คณะกรรมการอาจพิจารณาทบทวนการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนได้
การพิจารณาการทบทวนจะต้องเสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศให้มีการทบทวน
การพิจารณาการทบทวนไม่กระทบถึงการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนในระหว่างนั้น
มาตรา ๗๑/๑๘ ผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบสินค้าในต่างประเทศรายใดซึ่งมิได้ส่งสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
เข้ามาในช่วงระยะเวลาที่นำข้อมูลมาใช้เพื่อการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนแต่ได้ส่งสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนเข้ามา
หลังช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจขอให้ทบทวนการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนสำหรับตนเป็นการเฉพาะรายได้ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก
จากต่างประเทศ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบสินค้าในต่างประเทศรายอื่นซึ่งอยู่ในบังคับการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
ให้ถือว่าผู้ขอทบทวนมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบสินค้าในต่างประเทศซึ่งอยู่ในบังคับการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตามวรรคหนึ่ง ถ้าปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายถูกควบคุมโดยบุคคลที่สาม หรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันควบคุมบุคคลที่สาม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการนี้ ให้ถือว่าฝ่ายหนึ่งควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ ถ้าฝ่ายแรกอยู่ในฐานะทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติที่จะยับยั้งหรือสั่งการฝ่ายหลังได้
ในระหว่างการทบทวนตามวรรคหนึ่งจะเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนจากผู้ขอทบทวนดังกล่าวไม่ได้ แต่ถ้าต่อมาคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าผู้ขอทบทวนมีความเกี่ยวข้องกับผู้ซึ่งอยู่ในบังคับการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนหรือมีส่วนร่วมกับการหลบเลี่ยงดังกล่าวให้ขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตั้งแต่วันที่จัดทำทะเบียนนำเข้าสินค้า ในการนี้ ให้กรมศุลกากรมีอำนาจเรียกเก็บอากรดังกล่าวตามที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัย
การพิจารณาการทบทวนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศให้มีการทบทวน
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้แก่ผู้ประกอบสินค้าในประเทศไทยซึ่งมิได้นำเข้าสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน
ในช่วงระยะเวลาที่นำข้อมูลมาใช้เพื่อการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๗๑/๑๙ ผู้นำเข้าอาจขอทบทวนเพื่อขอคืนอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรตอบโต้การอุดหนุนที่ถูกเรียกเก็บจากการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ในขณะหนึ่งขณะใดได้ ถ้าผู้นั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนตามมาตรา ๗๑/๓
การขอทบทวนตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศภายในหกเดือนนับแต่วันชำระอากรดังกล่าว
การพิจารณาการทบทวนจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการรับคำขอดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกเดือน
มาตรา ๗๑/๒๐ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๑/๒ มาตรา ๗๑/๓ มาตรา ๗๑/๔ มาตรา ๗๑/๖ วรรคสาม มาตรา ๗๑/๗ มาตรา ๗๑/๘ มาตรา ๗๑/๙ มาตรา ๗๑/๑๐ มาตรา ๗๑/๑๑
และมาตรา ๗๑/๑๓ มาใช้บังคับแก่การทบทวนตามมาตรา ๗๑/๑๗ มาตรา ๗๑/๑๘ และมาตรา ๗๑/๑๙ โดยอนุโลม
มาตรา ๗๑/๒๑ ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามมาตรา ๗๑/๑๔ หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการในการขอให้ทบทวนตามมาตรา ๗๑/๑๗ มาตรา ๗๑/๑๘
และมาตรา ๗๑/๑๙ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น และให้นำบทบัญญัติ
มาตรา ๖๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ข้าราชการของกรมการค้าต่างประเทศซึ่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความใน (๑) ของมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และพิจารณาขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา ๑๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามและวรรคสี่ของมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
“เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้”
มาตรา ๑๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
“ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตามวรรคหนึ่ง”
มาตรา ๒๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒
“กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาด ห้ามมิให้กรรมการผู้นั้นเข้าร่วมการประชุมในเรื่องนั้น”
มาตรา ๒๑ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๒ บรรดาคำขอที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอนั้น ๆ อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๓ บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
………………………………………
นายกรัฐมนตรี
กรมการค้าต่างประเทศขอเชิญแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- ช่องทางที่ 1 คลิกแสดงความคิดผ่านเว็บไซต์กรมฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2560 ถึง 15 มกราคม 2561 (วันที่ 15 มกราคม 2561 เปิดรับแสดงความเห็นถึงเวลา 16.30 น.)
- ช่องทางที่ 2 การรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 20-21 ธันวาคม 2560 เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุม 802 ชั้น 8 กรมการค้าต่างประเทศ
* โดยโปรดยืนยันการเข้าร่วมฯ (คลิกสมัครเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น)
* ภายในวันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
เอกสารแนบ
1.) บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2.) (ร่าง) พระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3.) ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4.) พระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542